จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร
จากการที่วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่บทความงานวิจัยและบทความวิชาการในกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ เพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใสและสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังนั้นวารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จึงกำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
- ต้นฉบับบทความที่นำเสนอเพื่อพิจารณาจะต้องไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อน
- บทความที่นำเสนอควรเกิดจากการสังเคราะห์ความคิดขึ้นโดยผู้เขียนมิได้เกิดจากการแอบอ้างนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
- ผู้เขียนต้องจัดทำต้นฉบับตามข้อกำหนดของกองบรรณาธิการวารสาร
- ผู้เขียนจะต้องแก้ไขความถูกต้องของบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ
- ผู้เขียนยินยอมให้กองบรรณาธิการแก้ไขความสมบูรณ์ของบทความและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองบรรณาธิการกำหนด
- ในกรณีที่ผู้ประเมินอิสระ (Peer Review) ได้มีมติให้ผู้เขียนผลงานปรับปรุงแก้ไขผลงานขอให้ผู้เขียนผลงานปรับปรุงแก้ไขแล้วส่งผลงานที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วให้กองบรรณาธิการวารสาร ภายใน 10 วันนับจากวันที่ได้รับผลข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะเลื่อนบทความของท่านไปตีพิมพ์ในฉบับอื่นซึ่งจะล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม
- ในกรณีที่ผู้ประเมินอิสระ (Peer Review) พิจารณาไม่สามารถให้ตีพิมพ์ได้ ท่านจะไม่ได้รับค่าตีพิมพ์คืนในทุกกรณี
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)
- บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการพิจารณารูปแบบ ความครบถ้วนสมบูรณ์และคุณภาพของบทความ ก่อนเริ่มกระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่รับผิดชอบ
- บรรณาธิการจะเป็นผู้ประเมินเบื้องต้นในการตัดสินใจคัดเลือกบทความเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์ และพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ จากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
- บรรณาธิการจะไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ข้อสงสัยเหล่านั้น
- บรรณาธิการจะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินและทีมผู้บริหาร
- ต้องระงับกระบวนการประเมินบทความทันทีหากตรวจสอบว่ามีความไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เช่น การคัดลอกผลงานของผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิง พร้อมให้ผู้นิพนธ์ชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาตอบรับ “หรือ” ปฏิเสธการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ
- ต้องมีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารจัดการวารสาร
- พิจารณาตรวจสอบบทความไม่ให้มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงพิมพ์เผยแพร่จะไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
- ผู้ประเมินต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
- ประเมินบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้นิพนธ์ร่วมหรืออื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ประเมิน ไม่สามารถประเมินและให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระได้
- ควรประเมินบทความในสาขาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญ ของเนื้อหาในบทความ ที่จะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ ความเข้มข้นของผลงาน โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว ที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินบทความ
- ต้องให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญทางวิชาการ รวมทั้งผลงานวิจัยที่สอดคลองสัมพันธ์กับบทความที่กำลังประเมินให้ผู้นิพนธ์ด้วย หากพบว่ามีสิ่งอื่นใดของบทความมีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่น ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
- ต้องประเมินด้วยความเที่ยงตรงและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการ
- หากผู้ประเมินพบว่าบทความมีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานของผู้อื่นโดยมีหลักฐานชัดแจ้ง ผู้ประเมินสามารถปฏิเสธการตีพิมพ์และแจ้งแก่บรรณาธิการ